วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

สังคมไทยกับการกลับสู่รากเหง้า

สังคมไทยกับการกลับสู่รากเหง้า
สังคมไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตที่เรียกว่า “วิกฤตการพัฒนา” กล่าวคือ การพัฒนาสังคมไทยนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา นอกจากจะไม่ช่วยพัฒนาให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้แล้ว ยังกลับนำสังคมไทยให้ไปเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ และความซับซ้อนของปัญหาเก่าที่กำลังเรื้อรังอยู่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก วิกฤตการณ์ต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นรอบด้านในสังคมไทยปัจจุบันที่ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อสภาพชีวิตของประชาชนโดยภาพรวม และกระบวนการพัฒนาประเทศให้ต้องหยุดชะงักลงนั้น เป็นผลสะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงความผิดพลาดและล้มเหลวมาโดยตลอดของกระบวนการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีลักษณะขาดสมดุล ไม่ยั่งยืน และอ่อนไหวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงและผันผวนของโลกในแต่ละยุค สภาวการณ์ดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สังคมไทย ณ เวลานี้จำเป็นต้องหวนกลับมาทบทวนตัวเองเสียใหม่ เพื่อแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อใช้แก้ไขปัญหา และแสวงหาแนวทางในการปฏิรูปสังคมสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง


นับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันสังคมไทยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2504 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มสำคัญในการก้าวเข้าสู่กระแสโลกยุคใหม่ของสังคมไทยอย่างเต็มตัวภายใต้กระแสแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ที่ถูกขับเคลื่อนโดยระบบทุนเสรีนิยม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบโครงสร้างของสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน ตลอดช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมา ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า การพัฒนาประเทศของไทยยังคงใช้ระบบการแบบลองผิดลองถูก และมองสังคมแบบแยกส่วน โดยเฉพาะแผนฯที่1-7 ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศให้มุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าผลของการพัฒนาจะสร้างความเจริญเติบโตให้สังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อาจสามารถบรรลุเป้าหมายโดยแท้ของการพัฒนา เพราะหาได้สร้างเสถียรภาพอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นแก่สังคมแม้แต่น้อยเลยไม่ ยิ่งกว่านั้นผลจากการพัฒนาที่ไม่สมดุลยังส่งผลกระทบในทางลบ ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา ดังที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2539: 2, 5-6; 2543, 1-4) ได้ยอมรับข้อเสียหายของประเทศจากผลการพัฒนาโดยได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 – 8 ไว้อย่างชัดเจนว่า การมุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านรายได้นั้นทำให้คนไทยและสังคมไทยมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะความยากจน ที่ได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาความเสื่อมทางด้านศีลธรรม จริยธรรม และระเบียบวินัย การเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม การจางหายไปของวิถีชีวิตและค่านิยมดั้งเดิมที่ดีงามของคนไทย การล่มสลายของสถาบันครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาความแออัดของชุมชนเมือง ปัญหาสุขภาพ สภาพสังคมที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น สถิติการฆ่าตัวตายและจำนวนผู้กระทำผิดทางกฎหมายมีอัตราสูงขึ้น เป็นต้น การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมายังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย เช่น ท่านธรรมปิฎกซึ่งได้วิจารณ์การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาว่าทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา เพราะกระบวนการพัฒนาเป็นกระบวนการแบบข้ามขั้นตอน ขาดการพัฒนาฐานรากที่มั่นคงซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดผลกระทบในทางลบตามมา นอกจากนี้ความรู้เท่าไม่ถึงการพัฒนายังได้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะหนี้สินล้นพ้นตัว สูญเสียทรัพยากร สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และวัฒนธรรมล่มสลาย เป็นต้น (สุพิศวง ธรรมพันทา. 2547: 225) ปัญหาต่างๆ ที่ได้ถูกกล่าวมาแล้วนั้น บัดนี้ ได้กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยืดเยื้อและยังคงกำลังเรื้อรังอยู่ในสังคมปัจจุบันจนก่อเกิดเป็นวิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของไทยเท่าที่เคยประสบมาเลยก็ว่าได้ วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่น วิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม วิกฤตการเมือง วิกฤตศาสนา วิกฤตวัฒนธรรม และวิกฤตธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จากสภาวการณ์ดังกล่าวสังคมไทยจึงตกอยู่ในสภาพเหมือนเหมือนเรือที่ลอยวนแบบไร้ทิศไร้ทางท่ามกลางกระแสคลื่นที่พัดโหมเข้าใส่อย่างรุนแรงรอบด้าน ทำให้นักคิดนักวิชาการหลายคนต่างมีความเห็นพร้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย ณ เวลานี้จำเป็นต้องทำการ “ปฏิรูป” อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤต และหันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน ซึ่งเพื่อที่จะมุ่งสู่ความยั่งยืนได้ก็ต้องโดยอาศัย “การกลับคืนสู่รากเหง้า” เท่านั้น


ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความสนใจเป็นพิเศษต่อแนวคิดกลับคืนสู่รากเหง้า และมีความต้องการที่จะทำการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมแนวความคิดดังกล่าวเพื่อจะได้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า แนว ความคิด “กลับคืนสู่รากเหง้า” แท้ที่จริงแล้วคืออะไรกัน? จริงหรือ?..ที่สังคมไทย ณ เวลานี้จำเป็นต้องกลับคืนสู่รากเหง้า และถ้าจำเป็นเช่นนั้นจริง แล้วอะไรเล่าคือรากเหง้าที่สังคมไทยต้องกลับไป? และเราจะปฏิรูปสังคมไทยโดยอาศัยการกลับคืนสู่รากเหง้านี้ได้อย่างไร? การศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดอย่างลึกซึ้งจึงมีความจำเป็นและสำคัญเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจแนวความคิดกลับคืนสู่รากเหง้าได้อย่างถูกต้องและมีมุมมองที่เปิดกว้าง สามารถบูรณาการแนวความคิดกลับคืนสู่รากเหง้าเพื่อการปฏิรูปสังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมอย่างแท้จริง


จากการศึกษาพบว่าสังคมไทยปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศชาติที่มีความบกพร่อง และเสียสมดุลในอดีตที่ผ่านมา ได้ทำลายคุณค่าและรากฐานต่างๆ ที่สำคัญของสังคมไทยให้พังมลายเสื่อมสลายลงไป เพราะกระบวนทัศน์ดังกล่าวเป็นกระบวนทัศน์การพัฒนาที่มองสังคมไทยแบบแยกส่วน อีกทั้งยังเป็นกระบวนทัศน์การพัฒนาที่มิได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ บรรทัดฐาน และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทย จึงนำไปสู่วิกฤตการพัฒนาที่ก่อให้เกิดปัญหาและวิกฤตการณ์อื่นๆ ตามมาอย่างมากมาย ด้วยเหตุนี้แนวความคิดกลับคืนสู่รากเหง้าจึงถูกนำเสนอขึ้นเป็นคำตอบและแนวทางปฏิรูปสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันเพื่อจะได้สามารถผ่านพ้นจากวิกฤตการณ์ และกลับมาสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้ โดยการนำเสนอแนวความคิดของบรรดานักปฏิรูปและนักปรัชญาต่างๆ ได้แก่ ฌอง-ฌาครุสโซ ขงจื้อ นักปรัชญาสำนักเต๋า มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ มหาตมะคานธี ท่านพุทธทาสภิกขุ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งนักวิชาการต่างๆ ของไทย ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องกลับ ต้องถอย และต้องหวนคืนสู่รากเหง้าที่แท้จริงของตน คือ รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ รากเหง้าทางกายภาพ (ทรัพยากร/ธรรมชาติ) รากเหง้าทางศาสนาวัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากเหง้าทางสังคม และรากเหง้าของแต่ละปัจเจกบุคคล ซึ่งรากเหง้าทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่า เป็นอัตลักษณ์ เป็นศักยภาพ และเป็นสาระแท้จริงของสังคมไทย ที่ทั้งระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมโดยรวมจำเป็นจะต้องกลับไปแสวงหา เรียนรู้ ฟื้นฟูให้กลับมาเข้มแข็งและมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และประยุกต์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบัน การกลับคืนสู่รากเหง้าของสังคมไทยจึงเป็นแนวทางปฏิรูปสังคมที่นำไปสู่การเรียนรู้จักตนเองและสังคมไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างรากฐานรวมทั้งภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่สังคมไทย และช่วยให้สังคมไทยสามารถผ่านพ้นจากวิกฤตการณ์ และนำไปสู่กระบวนการพัฒนาและเจริญเติบโตของบุคคลรวมทั้งสังคมให้สามารถดำเนินสืบเนื่องต่อไปได้อย่างมีสมดุล ยั่งยืน และมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง